ตามที่รัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานไทยจำนวน ๒๕,๐๐๐ คนไปทำงานในภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอลเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ กรุงเยรูซาเลม นั้น
ในวันนี้ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานไทยและเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในนามของสำนักงานประชากรและตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทยอิสราเอล ได้ลงนามในกรอบการดำเนินงานของข้อตกลงฉบับใหม่ฯ เพื่อกำหนดกระบวนการการจ้างแรงงานไทยไปทำงานในภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอล
ข้อตกลงฉบับนี้ เป็นไปตามข้อตกลงทวิภาคีฉบับแรก ที่ลงนามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อให้การว่าจ้างแรงงานไทยเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใส ข้อตกลงฉบับ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดกระบวนการจ้างงานและป้องกันการกระทำ
ที่ผิดกฎหมาย เช่น การที่บริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินเป็นจำนวนมากจากแรงงานไทย
การลงนามในข้อตกลงทวิภาคีฉบับใหม่ เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งของความร่วมมือระหว่างไทยและอิสราเอล นั่นคือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ภายใต้กรอบข้อตกลงนี้ แรงงานไทยหลายหมื่นคนได้ไปทำงานแล้วในประเทศอิสราเอล โดยเป็นไปตามการว่าจ้างงานที่ให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิของแรงงาน
อิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยให้ความสนใจ เนื่องด้วยมีค่าจ้างที่ดึงดูด ทั้งยังมีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายอิสราเอล นอกจากนั้น เมื่อกลับมายังประเทศไทย แรงงานไทยยังสามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรจากอิสราเอลมาปรับใช้ได้
แรงงานไทยในภาคการเกษตรของอิสราเอลมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจอิสราเอล ที่ต้องการแรงงานผู้มีความชำนาญด้านเกษตรกรรม หลายปีที่ผ่านมา การทำงานหนักและอุทิศตนของแรงงานไทยส่งผลเลิศต่อความสำเร็จทางการเกษตรของอิสราเอลที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะผู้นำด้านวิทยาการการเกษตร
เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ดร. เมเอียร์ ชโลโม กล่าวในวันนี้ว่า
“ข้อตกลงนี้เป็นโครงการสำคัญของความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างอิสราเอลและไทย ที่ผมมั่นใจว่าจะดำเนินต่อไปอีกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของไทยและอิสราเอล ทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างงาน โดยเฉพาะในขณะนี้ที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีนัก
เราขอขอบคุณกระทรวงแรงงานและรัฐบาลไทย ที่ช่วยให้การเจรจาหารือในหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี แม้ว่าจะเผชิญกับ ความท้าทายในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ ก็ตาม"